Knowledge cover image
11 สิงหาคม 2565
  1. คลังความรู้
  2. Living Will ไม่ใช่การุณยฆาต

Living Will ไม่ใช่การุณยฆาต

ตอบคำถามว่า ทำไมไม่มีกฎหมายการุณยฆาตในประเทศไทย กับความเกี่ยวข้องในทั้งแง่มุมศีลธรรมและสังคม เพราะตัดสินใจของคนคนเดียวอาจส่งผลกระทบถึงคนรอบข้างอีกหลายคน


เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร

“ทำไมไม่มีกฎหมายการุณยฆาตในประเทศไทย”


นี่เป็นคำถามที่หลายคนสงสัย ซึ่ง ศาสตราจารย์ (พิเศษ) กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานกรรมการ บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด และอดีตประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด ได้เคยให้คำตอบไว้ว่า

 

“เหตุผลที่ประเทศไทยไม่มีกฎหมายการุณยฆาต ข้อแรกคือ การุณยฆาตเป็นเรื่องที่ยึดโยงกับศีลธรรม ในแง่ศาสนา ไม่ว่าศาสนาใด การฆ่าตัวเองถือเป็นบาปอย่างยิ่ง ผมไม่เห็นด้วยกับกฎหมายการุณยฆาตเลย เพราะการตัดสินใจเรื่องการุณยฆาตไม่ใช่เรื่องของคนคนเดียว แต่ยังมีคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งครอบครัว หมอ ดังนั้นจึงไม่ใช่การตัดสินใจของคนคนเดียวที่ส่งผลกระทบกับคนเพียงคนเดียว แต่ส่งผลถึงคนรอบข้างอีกหลายคน ส่งผลถึงพ่อแม่ว่าจะรู้สึกอย่างไร ทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่า เราแคร์ความรู้สึกของคนรอบข้างเราแค่ไหน

 

“เหตุผลข้อที่สอง การุณยฆาตเป็นเรื่องที่ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร คนที่จะตัดสินใจเรื่องการตายไม่ใช่มนุษย์ แต่จริง ๆ แล้วคือธรรมชาติ เพราะมันเป็นเรื่องของ “ชีวิต”​ ผมคิดว่า อาจจะมีคนเพียงจำนวนน้อยที่อยากให้มีกฎหมายนี้ เป็นคนที่เจ็บไข้ได้ป่วย หรือทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วย อาจจะคิดว่านี่เป็นชีวิตของเรา เราตัดสินใจเองได้ แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นเรื่องที่ตัดสินใจยาก และส่งผลกระทบมาก

 

“ถ้าเราเรียนรู้และเข้าใจ ก็จะรู้ว่ามันยังมีวิธีการดูแลแบบประคับประคอง หรือ Palliative Care เพื่อให้จากไปอย่างมีคุณภาพ ไม่เจ็บปวดทุกข์ทรมานมาก ถ้าเราคุยกับหมอ หมอก็จะสามารถให้ทางออกที่ช่วยบรรเทาได้ และในความเป็นจริง การดูแลแบบประคับประคองนั้นใช้เงินน้อยกว่าเสียเงินไปทำการุณยฆาตที่ต่างประเทศเสียอีก และถ้าเรายอมรับความจริงได้ว่า การตายมันก็ต้องเจ็บปวด และพอถึงเวลานั้น ร่างกายก็จะค่อย ๆ Shut down ไปเองตามธรรมชาติ”

 

นอกจากคำถามข้างต้นแล้ว เมื่อพูดถึงการทำหนังสือแสดงเจตนาเลือกวิธีการรักษาในช่วงสุดท้ายของชีวิต (Advance Directive) หรือ Living Will ซึ่งเป็นหนังสือแสดงความต้องการไม่ขอรับบริการสาธารณสุขที่ทำไปเพียงเพื่อยื้อชีวิตในวาระสุดท้าย บางคนก็ยังมีคำถามว่า “Living Will เป็นการแสดงความต้องการตายเหมือนการุณยฆาตหรือเปล่า”

 

แต่ในความจริง “Living Will ไม่ใช่การุณยฆาต” เพราะมีเป้าหมายและผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน Living Will เป็นการวางแผนเพื่อดูแลรักษาด้านสุขภาพ โดยเฉพาะในวาระสุดท้ายของชีวิต เมื่อไม่สามารถรักษาให้หายได้ มีการพยากรณ์โรคตามมาตรฐานวิชาชีพว่า จะต้องเสียชีวิตในไม่ช้า รวมถึงคนที่สมองส่วนใหญ่เสียหาย ถูกทำลาย ต้องนอนเป็นเจ้าชายนิทรา ผู้ป่วยสามารถขอจากไปอย่างสงบโดยไม่ยื้อชีวิตด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ หรือการรักษาที่ไม่จำเป็น ในขณะที่การุณยฆาตเป็นการเข้าไปช่วย หรือเร่งผู้ป่วย (หรือไม่ป่วย) ให้จบชีวิตลง

 

นอกจากนี้ Living Will ยังมีกฎหมายรองรับตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 แต่การุณยฆาตในประเทศไทยเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และยังผิดศีลธรรมด้วย

 

การทำ Living Will ควรทำตั้งแต่ยังมีสติสัมปชัญญะดีอยู่ และสื่อสารให้ลูกหลาน ครอบครัว หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง เข้าใจถึงความต้องการในวาระสุดท้าย ทั้งการเลือกวิธีการรักษาในระยะสุดท้าย การจัดการงานศพ รวมถึงสื่อสารให้แพทย์ทำตามความต้องการด้วย หากแพทย์ทำตาม Living Will ก็จะไม่มีความผิดใด ๆ แต่ถ้าไม่ทำตาม ญาติอาจปฏิเสธค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ และยังขัดต่อหลักจริยธรรม เพราะไม่เคารพการตัดสินใจและทำการรักษาที่ไม่เกิดประโยชน์กับผู้ป่วย

 

ดังนั้น Living Will จึงเป็นการวางแผนเพื่อให้สามารถจากไปอย่างสงบสุข โดยไม่ได้ทอดทิ้งผู้ป่วย แต่ให้การดูแลรักษาแบบประคับคอง (Palliative care) จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต โดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง และใช้แนวทางการดูแลแบบประคับประคอง เพื่อทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด มีความสุขสบายทั้งกายและใจมากที่สุด จวบจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต หรือที่เรียกว่า “ตายดี” นั่นเอง

ทีม Content ชีวามิตร avatar image
เรื่องโดยทีม Content ชีวามิตรชีวามิตรเชื่อว่า ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีคุณภาพชีวิตระยะท้ายที่ดี และจากไปอย่างมีความสุข

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads