Knowledge cover image
11 สิงหาคม 2565
  1. คลังความรู้
  2. มอร์ฟีน ช่วยลดความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วยระยะท้ายได้อย่างไร

มอร์ฟีน ช่วยลดความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วยระยะท้ายได้อย่างไร

คำอธิบายจากแพทย์ด้านการดูแลแบบประคับประคอง


เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร

มีหลายคนตั้งคำถามกันเข้ามามากว่า “มอร์ฟีนช่วยลดความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วยระยะท้ายได้อย่างไร” ชีวามิตรมีคำตอบจาก คุณหมอแดง นอ.นพ.พรศักดิ์ ผลเจริญสมบูรณ์ วิสัญญีแพทย์ และที่ปรึกษาทีมดูแลผู้ป่วยระยะท้าย โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี มาฝากกัน


“โดยส่วนใหญ่ มอร์ฟีนจะใช้เพื่อจัดการอาการปวดของผู้ป่วยเป็นหลัก เช่น อาการปวดในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย รวมทั้งยังมีการใช้เพื่อทุเลาอาการเหนื่อยและอาการปวด” คุณหมอแดงอธิบายเพิ่มเติมต่อไปว่า “แต่หลายคนมีความกังวลว่า การใช้มอร์ฟีนจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตหรือติดยาไหม อยากให้ทำความเข้าใจว่า ปกติแล้ว การใช้มอร์ฟีนเมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดไม่มีผลทำให้เสียชีวิต แต่ถ้าหายปวดแล้วยังให้มอร์ฟีนต่อ อาจจะมีผลทำให้การหายใจลดลงบ้าง เพราะฉะนั้น ถ้าเรายังเห็นผู้ป่วยทุกข์ทรมานเพราะความเจ็บปวดอยู่ มอร์ฟีนก็เป็นทางเลือกที่ช่วยจัดการอาการปวดได้ดี และไม่ทำให้เสียชีวิตหรือติดยา


“ส่วนเรื่องจะทำให้ติดยาไหม ต้องมองความเป็นจริงว่า ผู้ป่วยระยะสุดท้ายนั้นจะมีชีวิตอยู่ได้นานอีกแค่ไหน ความกังวลเรื่องการติดยาจึงน่าจะไม่ใช่สิ่งสำคัญเท่ากับการช่วยลดความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วย ถ้าหากว่าผู้ป่วยไม่สนใจเรื่องการต้องมีสติก่อนตาย การให้มอร์ฟีนจะช่วยให้เขาเคลิ้ม หลับ และรู้สึกสบายมากขึ้น”


สำหรับการใช้มอร์ฟีน ควรใช้อย่างไร ปริมาณแค่ไหน คุณหมอให้คำอธิบายว่า “หมอสามารถให้มอร์ฟีนได้จนกระทั่งถึงจุดหนึ่งที่ให้แล้วไม่ได้ทุเลาอาการปวด หรือว่าเกิดผลข้างเคียงที่รับไม่ได้ก็ควรหยุดให้ เพราะมีผู้ป่วยบางคนที่ไม่ตอบสนองต่อมอร์ฟีน ให้แล้วไม่ทุเลาอาการก็ควรพิจารณาเปลี่ยนยา และอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ต้องกังวลคือ ตราบใดที่ผู้ป่วยยังมีอาการปวดอยู่ มอร์ฟีนจะไม่กดการหายใจ


“ในส่วนของผู้ป่วยที่มีอาการเหนื่อย มอร์ฟีนจะช่วยให้เคลิ้ม มีความสุข และทุเลาความทุกข์ทรมานได้ โดยผลข้างเคียงของมอร์ฟีนที่เป็นผลดีคือ ทำให้เส้นเลือดขยายตัว ในกรณีที่ผู้ป่วยมีน้ำเกิน เช่น ผู้ป่วยโรคปอดที่มีอาการเหนื่อย เมื่อให้มอร์ฟีนจะทำให้ปริมาณน้ำ ปริมาณเลือดที่อยู่ในปอด มีที่อยู่ในเส้นเลือดมากขึ้น ทำให้น้ำที่ปอดน้อยลง และผู้ป่วยรู้สึกสุขสบายขึ้นได้”


สุดท้ายคุณหมอแดงยังฝากเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งว่า “การจัดการความเจ็บปวดที่ดีที่สุดคือ การไม่พยายามยื้อชีวิตผู้ป่วย และให้เขาจากไปตามธรรมชาติ เพราะในกระบวนการเสียชีวิตตามธรรมชาติ สมองจะปิดการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ลงทีละส่วน ทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมานน้อยกว่า ใช้เวลาสั้นกว่า และยังทำให้แนวโน้มในการใช้ยาลดน้อยลง”

ทีม Content ชีวามิตร avatar image
เรื่องโดยทีม Content ชีวามิตรเรียบเรียงจากบทความสัมภาษณ์ “การเลือกใช้มอร์ฟีนในผู้ป่วยระยะท้าย” โดย นอ.นพ.พรศักดิ์ ผลเจริญสมบูรณ์ ได้ที่ https://www.facebook.com/100104281959528/posts/239976331305655/?d=n

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads